Print this page

กลุ่มอนุรักษ์ภาพเขียนไทยบ้านปลาขาว อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

   กลุ่มอนุรักษ์ภาพเขียนไทยบ้านปลาขาว อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อผลิตงานจิตรกรรมเขียนภาพลวดลายแบบไทยด้วยสีน้ำอะครีลิค เน้นภาพเกี่ยวกับการละเล่นต่าง ๆ ภาพประเพณีไทยและอีสาน ก่อตั้งขึ้นโดยนายอำนวย สุทธัง ผู้ซึ่งมีความรู้เรื่องจิตรกรรมไทย และต้องการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยได้ถ่ายทอดความรู้ ฝึกฝนให้กับเด็กเยาวชน และผู้ที่สนใจในท้องถิ่น

การก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมไทย

  เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 นายอำนวย สุทธัง ได้แรงบันดาลใจจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศไม่ว่าจะเป็นประชาชนขาดการศึกษา ติดยาเสพติดและอบายมุขต่าง ๆ ปัญหาการว่างงาน จึงมีแนวคิดว่าตนเองนั้นพอจะมีประสบการณ์และความชำนาญเกี่ยวกับการวาดภาพศิลปกรรมไทยจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง หากถ่ายทอดความรู้นี้ไปสู่เยาวชนและประชาชนในท้องถิ่น น่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมาได้ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งศูนย์ศิลปกรรมไทยขึ้น แต่ด้วยคนในชุมชนนั้นยังไม่มีความรู้ทางด้านศิลปกรรมจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนเหล่านั้นเข้าถึงได้ ต้องอาศัยความชอบและมีใจรักในด้านนี้จริง ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่อาศัยพรสวรรค์เท่านั้น ท่านมีวิธีการและขั้นตอน มีหลักจิตวิทยาในการถ่ายทอดความรู้อย่างมาก จนทำให้ศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมแห่งนี้ประสบความสำเร็จ กลยุทธ์ที่ท่านใช้ ได้แก่ การให้เรียนฟรี การให้เขียนภาพเองโดยอิสระ การสอนงานซึ่งกันและกัน เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน

การบริหารงานของกลุ่ม

     เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามระเบียบแบบแผน และมีความโปร่งใส จึงได้มีการกำหดกฎระเบียบของกลุ่มไว้ คือ

  1. ในการบริหารจัดการของกลุ่มประกอบด้วย ประธาน รองประธาน เลขานุการ เหรัญญิก กรรมการ และฝ่ายตรวจสอบ
  2. กำหนดเวลาทำงาน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานทั่วไป กำหนดให้มีวันหยุด และมีค่าตอบแทนหากมีการทำงานเกินเวลา
  3. ประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง หรือตามสถานการณ์ความจำเป็น
  4. พิจารณาค่าตอนแทนเป็นรายเดือน หรือ รายปี โดยใช้พฤติกรรมการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณา เช่น ความขยัน อดทน ความต่อเนื่อง ความตรงต่อเวลา และความสามารถของแต่ละคน
  5. การคัดเลือกคณะกรรมการบริหาร ให้คัดเลือกตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อพัฒนากลุ่มให้ความเข้มแข็ง และเรียนรู้ภาวการณ์เป็นผู้นำ
  6. มีบ่อเลี้ยงปลา นาข้าวไว้รอบศูนย์ โดยอาศัยหลักเศรษฐกิจพอเพียง

  กลุ่มอนุรักษ์ภาพเขียนไทย เป็นกลุ่มแรกและกลุ่มเดียวในประเทศไทย ที่ผลิตภาพไทยในชุมชนประสบความสำเร็จและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสามารถส่งขายได้ทั้งภายในและภายนอกประเทศ มีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง เคยได้รับรางวัลคัดสรรค์ สุดยอด OTOP ระดับประเทศ ในปี 2546 และปี 2547 เมื่อมีการก่อศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมไทย ศูนย์แห่งนี้ก็เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจ และผู้ที่ต้องการเรียนรู้อาชีพ มีบุคคลต่าง ๆ เข้ามาศึกษาเรียนรู้ ชมขั้นตอนการผลิต และสถานที่ฝึกงานให้นักเรียน นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ หน่วยงาน และผู้ที่สนใจในอำเภอ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศไทย

 

  ปัจจุบันกลุ่มอนุรักษ์ภาพเขียนไทย บริหารงานโดย นางวรรณา สุทธัง สมาชิกที่อยู่ในกลุ่มจะร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน เป็นภาพเขียนสีอะครีลิค โดยได้รับผิดชอบในส่วนต่าง ๆ แตกต่างกันออกไปตามความเชี่ยวชาญ เช่น ลงสี ตัดเส้นตัดลาย ลงเส้นวาดลวดลาย ฉะนั้นในหนึ่งภาพจะถูกวาดและระบายสีด้วยช่างเขียนภาพหลายคน ภาพที่เขียนส่วนใหญ่จะเป็นภาพคนในอิริยาบถและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การละเล่น ประเพณีไทยและอีสานตามฮีตสิบสอง พระพุทธรูป เป็นต้น ขนาดภาพที่เขียนและได้รับความนิยม คือขนาด 45*60 เซนติเมตร กลุ่มจะเขียนภาพสะสมไว้และจะออกร้านจำหน่ายในงานต่าง ๆ เช่น งาน OTOP งานแสดงสินค้า

เกียรติประวัติ นายอำนวย สุทธัง

  1. ปี 2543 ได้รับโล่เชิดชูเกียรติคุณรางวัลชนะเลิศผู้นำอาชีพก้าวหน้า
  2. ปี 2545 ศิลปินดีเด่น สาขาทัศนศิลป์ จากคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ
  3. ปี 2546 ได้รับการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ดีเด่น ระดับสามดาว
  4. ปี 2547 ได้รับการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ดีเด่น ระดับสี่ดาว

ผลงาน นายอำนวย สุทธัง

  1. เป็นผู้บุกเบิกการเขียนภาพไทยประยุกต์ ส่งตามแกลอรี่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย
  2. จัดแสดงผลงานมาอย่างต่อเนื่อง
  3. จัดตั้งกลุ่มเขียนภาพสำหรับเยาวชนผู้ติดยาเสพติดและอบายมุขต่าง ๆ และผู้ว่างงาน
  4. สร้างศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมไทยเพื่อเผยแพร่ผลงานตลอดจนผู้ที่สนใจต้องการเรียนรู้ในด้านศิลปกรรมไทย
  5. เขียนภาพตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงแรม โรงพยาบาล โบสถ์วิหารของวัด ร้านอาหาร สำนักงานราชการและเอกชน
  6. เป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในคุณค่าของการสร้างสรรค์ศิลปกรรมแก่ประชาชน นักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไป
  7. เป็นกรรมการตัดสินต้นเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี

ที่ตั้ง กลุ่มอนุรักษ์ภาพเขียนไทย บ้านปลาขาว

     เลขที่ 20 หมู่ที่ 3 บ้านปลาขาว ตำบลยาง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

บรรณานุกรม

  1. วรรณา สุทธัง. (2560). สัมภาษณ์ 22 มิถุนายน 2560
  2. อำนวย สุทธัง. (2560) สัมภาษณ์ 22 มิถุนายน 2560.